วันพุธที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เจแปนแอลป์ ไม่มีสิ่งใดกั้นความพยายามมนุษย์

เส้นทางแอลป์ทาเตยามะ-คุโรเบะ (โทยามา/ญี่ปุ่น)


กำแพงหิมะสูงกว่า 20 เมตร
การเดินทางมักมีเสน่ห์ในตัวเองเสมอ
ยิ่งเส้นทางยากลำบากเท่าไหร่
ความประทับใจและความทรงจำก็จะมากตามไปด้วย
บางเส้นทางยากลำบากจนคนปกติเข้าไม่ถึง
ก็จะมีการออกแบบให้ใช้พาหนะต่างๆ เพื่อไปถึงจุดหมายได้ง่ายกว่าเดิม
การออกแบบเส้นทางนี้เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง
เพราะเป็นการนำสิ่งที่มนุษย์สร้างไปวางรวมกับธรรมชาติ
ผสมผสานให้ลงตัว ไม่แปลกปลอม และที่สำคัญต้องไม่กระทบหรือทำลายธรรมชาติ
เส้นทางแอลป์ทาเตยามะ-คุโรเบะ เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง


เส้นทางแอลป์ทาเตยามะ-คุโรเบะ คือการเดินทางที่พิสูจน์
ความพยายามของมนุษย์ เพื่อขึ้นไปยังเทือกเขาเจแปน แอลป์
ต้องผ่านภูเขาทาเตยามะซึ่งถือเป็นหลังคาของญี่ปุ่น
สูงจากระดับน้ำทะเล 2,400 เมตร
ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดโทยาม่าและจังหวัดนากาโน่
นอกจากความงามและความยิ่งใหญ่ของเทือกเขา
ผู้มาเยือนจะได้พบสายพันธุ์พืชและสัตว์ป่าหายาก
เพราะมีการปกป้องสภาพแวดล้อมอย่างดีที่สุด
พาหนะที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นระบบใช้ไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยมลพิษ


สิ่งสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากที่สุดคือ กำแพงหิมะ “ยุคิโนะโอทานิ”
เป็นกำแพงหิมะสูงตั้งแต่ 12-20 เมตร ระยะทาง 500 กม. ตั้งอยู่บนสถานีมูโรโด
มีทัศนียภาพที่สวยแปลกตา ทำให้หลายคนไฝ่ฝันไปเดินชมสักครั้ง
จะเปิดให้ชมในช่วงเดือน พฤษภาคม ถึง มิถุนายน ของทุกปี
แม้จะไม่มีหิมะตกแล้ว แต่อุณหภูมิก็ยังต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส
ทำให้หิมะค่อยๆละลายลงช้าๆเหมือนกับจะรอผู้มาเยือน


การเดินทางเริ่มด้วยการขึ้นรถไฟท้องถิ่น ที่เก่าแต่ดูขลัง
จากสถานีเดนเท็ตสึโทยามา
เราจะได้ชมบรรยากาศชนบทของญี่ปุ่นราว 1 ชั่วโมง
จากนั้นลงที่สถานีทาเตยามะเพื่อเริ่มต้นเส้นทางพิเศษ
เริ่มด้วยรถเคเบิ้ลคาร์ เพราะเส้นทางลาดชันเกินกว่ารถชนิดอื่นจะขึ้นได้
จากนั้นก็เปลี่ยนไปนั่งรถบัส (Highland Bus) ที่ต้องใช้คนขับชำนาญเส้นทาง
ได้ชมสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติมากๆ
มีต้นไม้ขนาดใหญ่ อายุว่ามากกว่า 1000 ปี
สูง 20-30 เมตร วัดลำต้นโดยรอบได้ 6-10 เมตร



เมื่อถึงสถานีมูโรโดจะเป็นจุดท่องเที่ยวใหญ่
เพิ่อเดินชมกำแพงหิมะ
ความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติถูกมนุษย์ตัวเล็กๆดัดแปลงใช้เป็นประโยชน์
ดึงดูดผู้คนจากต่างแดน ข้ามน้ำข้ามทะเล มาชมจำนวนมาก ถือเป็นความสำเร็จสูงสุดของที่นี่
นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ใช้เวลากับสถานีมูโรโดมากเป็นพิเศษ
มีที่พักสำหรับคนที่ต้องการเข้าถึงธรรมชาติจริงๆอีกด้วย


จากนั้นเดินทางต่อด้วยรถโทรลเลย์บัส (Kanden Tunnel Trolley bus)
เป็นรถรางไฟฟ้า ที่วิ่งในอุโมงค์ใต้เทือกเขาทาเตยามะ
กล่าวกันว่าเป็นเส้นทางที่สร้างด้วยความยากลำบากที่สุด
เพราะต้องขุดอุโมงค์ลงไป ขณะที่มีน้ำใต้ดินและทรายจำนวนมากผุดขึ้นมาวินาทีละ 660 ลิตร
การขุดเจาะลงไปเพียง 80 เมตรต้องใช้เวลานานถึง 7 เดือน
แต่สำหรับเราผู้ใช้เส้นทาง ใช้เวลาเดินทางเพียง 20 นาทีเท่านั้น


การเดินทางเป็นไปด้วยความกระตือรือร้น และต้องเดินทางอีก 2 ต่อ
ด้วยกระเช้าลอยฟ้า (rope way) และรถเคเบิ้ลคาร์ เพื่อไปเยี่ยมชมเขื่อนคุโรเบะ
เขื่อนคุโรเบะมีความสูง 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล
ความสูงตัวเขื่อน 186 เมตร เป็นเขื่อนคอนกรีตแบบโค้ง(Arch dam) ที่สูงที่สุดในญี่ปุ่น
สร้างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่2 ประเทศญี่ปุ่น จำเป็นต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว
ทำให้ขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า
ใช้เวลาสร้างรวม 7 ปี ค่าใช้จ่าย 51.3 ล้านล้านเยน
และจากคนงานทั้งหมด 10ล้านคน มีผู้ที่เสียชีวิตจากการสร้างเขื่อนถึง 171 คน


ว่ากันว่าภูเขาทาเตยามะเป็นหนึ่งใน 3 ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ของญี่ปุ่น
อีกสองแห่งคือ ภูเขาไฟฟูจิ และภูเขาชิรายามะ
เป็นที่รู้จักดีตั้งแต่ศตวรรษที่ 17-19 ว่าเป็นเส้นทางมาเยือนของผู้แสวงบุญจำนวนมาก
เพราะในบริเวณนี้มีเส้นทางที่มีชื่อของนรก
เช่น คากิโนะเด็น (ทุ่งผีเปรต), จิโกกุดานิ(หุบเขานรก)
ชิโนะอิเคะ (บ่อน้ำสีเลือด)
และชื่อสวรรค์หรือแดนสุขาวดี (ทาเตยามะ)
ตามความเชื่อของชาวพุทธ


สิ่งที่น่ายกย่องจากการท่องเที่ยวเส้นทางนี้
คือการจัดระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ
ทั้งระบบตรวจตั๋วที่รวดเร็ว
และการกำหนดตารางเวลาเดินรถ
การเข้าแถวคอย เป็นวัฒนธรรมที่เป็นอารยะ
เพราะในช่วงเทศกาลจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
ต้องใช้ความอดทน การวางแผนที่ดีพอสมควร


โดยธรรมชาติ เมื่อจะมีการเปลี่ยนแปลง มนุษย์จะมีความรู้สึกต่อต้านไว้ก่อน
ตราบที่สิ่งนั้นถูกพิสูจน์ว่าเป็นสิ่งดี ก็จะเป็นที่ยอมรับ
การนำขยะมาถมทะเลเป็นเพื่อเพิ่มพื้นที่ทางเศรษฐกิจ
เจาะอุโมงค์ลอดภูเขาลูกแล้วลูกเล่า เชื่อมประเทศเข้าด้วยกัน
เป็นตัวอย่างความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับการจัดการและให้ข้อมูลแก่ชุมชน


คงจะดีไม่น้อยถ้าเรามีอุโมงค์เชื่อม จ.แม่ฮ่องสอน กับ จ.เชียงใหม่
มีกระเช้าลอยฟ้าให้บางคนมีโอกาสขึ้นไปยังภูกระดึง
มีรถไฟความเร็วสูงไปยังหัวเมืองต่างๆ
ความคิดที่กลัวว่าเมื่อความเจริญไปถึง วัฒนธรรมดั้งเดิมจะสูญหาย
คงต้องเรียนรู้ตัวอย่างการจัดการ และปลูกฝังค่านิยมของญี่ปุ่น
คือการคิดถึงผู้อื่นมากขึ้น และคิดถึงตัวเองให้น้อยลง

สถานีกาลเวลา

หมู่บ้านชิราคาวาโกะ (โทยามา/ญี่ปุ่น)
หมู่บ้านชิราคาวาโกะ หนึ่งในมรดกโลกของญี่ปุ่น


มีคนบอกว่าชีวิตคือการเดินทาง
ผมเห็นด้วย แต่ขอเสริมไปอีกนิดว่าเป็นการเดินทางด้วย “รถไฟ “
เพราะแต่ละสถานี ก็เหมือนเป็นแต่ละช่วงเวลาชีวิต
ทุกคนเดินทางไปสู่จุดหมายที่แตกต่างกัน
เราเลือกเส้นทางได้ เปลี่ยนสถานีได้
แต่รถไฟเดินไปตามตารางเวลาเสมอ ไม่สามารถหยุดรอได้
บางครั้งก็ผ่านสถานีที่สวยงาม มีความสุขเราก็อยู่ได้พักหนึ่ง แล้วก็ต้องไปต่อ
บางครั้งก็ผ่านสถานีที่มีความทุกข์ เราก็อยากไปต่อเร็วๆ แต่ก็ต้องรอเวลารถออก

รถไฟบางขบวนเต็มไปด้วยความอบอุ่น มีความเก่าแก่ ทรงคุณค่า เพราะสะสมวัฒนธรรม ประสบการณ์ของผู้คนจึงถูกอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้สัมผัส ไม่ต้องใช้จินตนาการจากหนังสือ หรือเรื่องเล่า
ลองแวะสถานีของอดีตและความประทับใจกันก่อน

บรรยากาศภายในเมืองโอบล้อมด้วยขุนเขา


มองจากมุมสูงเห็นหมู่บ้านสไตล์โบราณทั้งหมด
หมู่บ้านมรดกโลก “ ชิราคาวาโกะ”  (Shirakawa-go) จังหวัดกิฟูและโทยามา ของญี่ปุ่น
มีภูเขาสูงล้อมรอบทุกด้านถูกตัดขาดจากโลกภายนอก
ต้องเผชิญกับสภาพภูมิอากาศหนาว หิมะที่ตกหนัก
จึงเกิดภูมิปัญญาในการสร้างหลังคาที่ลาดชันมากถึง 60 องศา ดูคล้ายการพนมมือ หรือที่เรียกว่า กัสโช (Gassho-zukuri)
ทำให้หิมะไหลตกลงมาจากหลังคาได้ส่วนหนึ่ง ประหยัดแรงงาน ประหยัดเวลา
ใช้วัสดุท้องถิ่นอย่างหญ้าคาเพื่อป้องกันความหนาวเย็น
ภายในบ้านถูกแบ่งเป็นชั้น เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย
ชั้นบนใช้เก็บของและเลี้ยงไหม ชั้นล่างเป็นที่อยู่อาศัย
นอกจากนี้บ้านแต่ละหลังจะหันหน้าไปตามทิศทางลม
เพื่อช่วยให้บ้านเย็นสบายในฤดูร้อน และช่วยให้อบอุ่นในฤดูหนาว
ทำให้มีความเป็นระเบียบ และมีเสน่ห์ ต่อผู้พบเห็น

ปัจจุบัน บ้านเรือน บางส่วน ปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา
กลายเป็นร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร
บางหลังก็ถูกอนุรักษ์ไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ ให้ผู้มาเยือนได้เรียนรู้

****
ย่านชิบุยา มหานครโตเกียว
กลับมาขึ้นรถไฟเข้าสู่เมืองหลวง
เป็นรถไฟสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวน่าตื่นเต้น
ถ้าหลับจากชิราคาวาโกะ มาตื่นที่ “โตเกียว”
เราคงต้องตกใจกับสภาพเมืองและผู้คนมากมาย
ที่โตเกียว แทบจะไม่มีสิ่งไหนหยุดนิ่ง
เมืองใหญ่ขนาด10 ล้านคน เดินทางด้วยรถไฟเป็นหลัก
แต่ละสถานีจึงเต็มไปด้วยผู้คนที่กึ่งเดินกึ่งวิ่ง ขวักไขว่ไปมา
มีอาคารสูงมากมาย พร้อมกับแสงสีจากป้ายโฆษณา
โดยเฉพาะแหล่งช้อปปิ้งที่มีชื่อเสียงอย่างชินจูกุ ฮาราจุกุ ชิบูยา อิเคบุโคโร
จะเห็นวัยรุ่นแต่งตัวเหมือนมาจากอนาคต หรือออกมาจากหนังสือการ์ตูน

เมื่อผ่านกาลเวลาสิ่งที่ล้าหลังก็จะเสื่อมถอยและหายไปตามกาลเวลา
แต่สิ่งที่ดีจะคงอยู่เป็นวัฒนธรรมและกลายป็นสัญชาตญาณ
เอกลักษณ์เฉพาะของคนญี่ปุ่น ที่น่าเลื่อมใสคือระเบียบวินัย ใจสู้  และอดทน
มีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆเพื่ออำนวยความสะดวก ตั้งแต่เรื่องใหญ่ไปจนถึงเรื่องเล็กๆน้อยๆ
ตู้กดน้ำอัตโนมัติที่มีอยู่ทุกตรอกซอกซอย ทดแทนการใช้แรงงานทีมีราคาสูง
ชักโครกที่มีฝาอุ่น และฉีดน้ำอุ่น
เก้าอี้นวดเพื่อผ่อนคลายจากการทำงานหนัก
ระบบประปาที่แยกน้ำร้อน น้ำเย็น สะอาดและสามารถดื่มได้


แม้เผชิญกับความยากลำบาก ทั้งสภาพอากาศที่หนาวเหน็บ กับภูมิประเทศที่มีภูเขาล้อมรอบ และเป็นเกาะแยกกัน
แต่ญี่ปุ่นก็ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ
ปัจจัยสำคัญคือระบบรางที่ทันสมัย
มีรถไฟวิ่งไปทุกทิศ ทั่วประเทศ เชื่อมไปยังเกาะต่างๆ
มีการเจาะอุโมงค์นับไม่ถ้วน เพื่อทำถนนและทางรถไฟ
มีรถไฟความเร็วสูงอย่างชินคันเซน (shinkansen) ช่วยให้ความเจริญลุกลามไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว
แผนผังรถไฟในโตเกียว

รถไฟเป็นส่วนสำคัญในการนำความเจริญสู่ภูมิภาค
ถ้าเราเอ็กซเรย์ใต้พื้นดินในโตเกียว จะเห็นเส้นทางรถไฟเป็นตาข่ายที่คลุมไปทั่วเมือง
ปีนี้ “สถานีโตเกียว”  มีอายุครบ 100 ปีพอดี
ทางการญี่ปุ่นเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์ และได้ถ่ายทอดความเป็นมาของสถานีโตเกียวแก่ผู้คน
เป็นตัวอย่างที่พิสูจน์ว่า “อดีต” เป็นสิ่งจำเป็น สำหรับ “ปัจจุบัน” และ “อนาคต”
เราเรียนรู้จากอดีต แต่ไม่ยึดติดกับอดีต
แต่ก็ใครหลายคนพยายามยืดติดที่สถานี “อดีต”  ไม่อยากไปสถานี “อนาคต”
ด้วยเหตุผลเดียวเท่านั้น
กระซิบเบาๆว่า “กลัวแก่”